16 ตุลาคม 2555

แอรีส (Ares) เทพแห่งสงคราม



อาเรส หรือ เอรีส (Ares) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม และอาวุธชุดเกราะ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัสด้วย โดยเป็นบุตรองค์หนึ่งของเทพซุส กับเทวีฮีรา และอาเรสยังเป็นที่เกลียดชังของเทพ และมนุษย์ทั้งปวง เว้นแต่ชาวโรมัน ผู้มีนิสัยชอบการสงคราม


อาเรส เป็นเทพแห่งการสงครามเช่นเดียวกับ อาเธน่า แต่ทว่าอาเธน่า จะได้รับการยกย่องและบูชามากกว่า เนื่องจากอาเธน่าเป็นเทพีที่ใช้สติปัญญาวางแผนในการสู้รบมากกว่า ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะเทพีแห่งสติปัญญาด้วย ผิดกับ อาเรส ซึ่งมักจะใช้ความดุดันและโหดร้ายในการสงครามมากกว่า ซึ่งโฮเมอร์ กวีเอกคนสำคัญของกรีกโบราณ ยังเคยเขียนถึงอาเรสว่า เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้า

ชาวโรมันเทิดทูนสดุดีเทพองค์นี้ยิ่งนัก ถึงกับอุปโลกน์ให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม และพรรณาสรรเสริญเกียรติคุณนานัปการ ตรงกันข้ามกับชาวกรีก ซึ่งนอกจากจะไม่นิยมเลื่อมใสเทพองค์นี้แล้ว ยังถือว่า เป็นเทพที่มีสันดานป่าเถื่อนดุร้าย ปราศจากความเมตตากรุณาเสียอีก

อาเรสเป็นโอรสขององค์เทพซุสกับฮีร่า และทรงเป็นโอรสที่เทพบิดาซุส ตรัสใส่หน้าเลยว่า “เจ้าเป็นที่น่าชังที่สุดในบรรดาลูกของข้า ทั้งโหดร้าย ดื้อด้านเหมือนแม่เจ้าไม่ผิด!” ซึ่งวาทะประโยคนี้นับว่าวิจารณ์อุปนิสัยใจคอของ อาเรสได้ตรงเป็นที่สุด นอกจากโหดร้ายและดื้อดึง อาเรสยังบุ่มบ่าม โกรธง่าย และนิยมความรุนแรงมาก นับว่าเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างกับเอเธน่ามาก ซึ่งเป็นเทวีแห่งสงครามเหมือนกัน เอเธน่านั้นสุขุม เฉลียวฉลาด และ กล้าหาญ จึงได้รับการ ยกย่องทั่วทุกหนแห่ง เป็นเหตุให้อาเรสเกิดจิตริษยาเอามาก

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอาเรสองค์นี้ คือในฐานะที่เป็นเทพแห่งสงคราม ตามปกติหากรบที่ไหน ต้องมีชัยที่นั่น แต่ผิดถนัดสำหรับเทพองค์นี้ หากว่าอาเรส รบที่ไหนปราชัยที่นั่นมากกว่าจนน่าประหลาดใจ นอกจากจะพ่ายแพ้ แก่เทวีเอเธน่าแล้ว ยังแพ้มนุษย์อีกด้วย อาทิเช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส เคยสังหารโอรสของอาเรสมาแล้ว ครั้นผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็ถูกต่อยตีจนต้องหลบหนีขึ้นไปบนโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อนำเรื่อง ทูลฟ้องซุส ซุสก็ตัดสินไกล่เกลี่ยให้เลิกรากันไป เนื่องจากแท้ที่จริง เฮอร์คิวลิส ก็เป็นโอรสของซุส เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีมารดาเป็นมนุษย์สามัญ

เทพอาเรสมักเสด็จไปไหน ๆ โดยรถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะ และแสงศาตราวุธส่องแสงเจิดจ้า บาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ เดมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บริวารนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นโอรสของเทพอาเรส ในทาง ดาราศาสตร์ เมื่อตั้งชื่อ ดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว ก็เลยตั้งชื่อดวงจันทร์บริวารทั้งสองของดาวอังคารว่า เดมอส กับ โฟบอสตามตำนานไปด้วยเลย และชื่อของทั้งคู่ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่า ความตื่นตระหนก (Panic) และ ความกลัว (Phobia) อีกด้วย


ในด้านความรักของอาเรสนั้นเร่รักไปเรื่อย เช่นเดียวกับเทพบุตรอื่นๆ ในโอลิมปัส ไม่ได้ยกย่องใครเป็นชายา แต่มีเรื่องรักสำคัญของอาเรสอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่การลักลอบเป็นชู้กับเทวีแห่งความงาม และความรักนาม อโฟรไดท์

เมื่ออาเรส เป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ (ชาวกรีก) เช่นนั้น พฤติการณ์ตอนเป็นชู้กับเทวีอโฟรไดท์ จึงเป็นที่ครหารุนแรง และมวลเทพก็คอยจ้องจับผิด แต่ก็เพราะความมืดของราตรีกาลเป็นใจ ทำให้อาเรสเลี่ยงหลบลอบเป็นชู้ได้ หากยังจับไม่ได้คาหนังคาเขา ตราบนั้นพฤติกรรมเช่นนี้ก็ยังคงเป็นความลับ อาเรสกลัวแสงสว่างยามเช้า ซึ่งเปรียบเหมือนนักสืบของเทพอพอลโล ถ้านักสืบนั้นแฉ พฤติกรรมออกไป ให้แก่เทพอพอลโลแล้ว เทพอพอลโลก็คงจะนำความไปบอก แก่เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นสามีของอโฟรไดท์ ถึงกรณี ที่ อาเรส ลักลอบกับคบกับ เทวีอโฟรไดท์ อาเรสจึงวางยามไว้คนหนึ่ง ให้คอยปลุกเมื่อใกล้รุ่ง ผู้ทำหน้าที่นี้คือ หนุ่มน้อยชื่อว่า อเล็กไทรออน (Alectryon)

ในคราวที่ความจะแตก อเล็กไทรออนหลับยามเพลินไปจนรุ่งเช้า เป็นเหตุให้อพอลโล เห็นอาเรสกับอโฟรไดท์ นอนหลับอยู่ด้วยกัน อพอลโลจึงนำความไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสสานร่างแหเหล็กเตรียมไว้ก่อนแล้วเพราะรู้ระแคะระคายมาบ้าง พอได้ความดังนั้น ก็หอบร่างแหไปทอดครอบอาเรสกับอโฟรไดท์ ไว้ให้เทพทั้งปวงมาดูและหัวเราะเยาะอย่างครื้นเครงแล้วจึงปล่อยไป ฝ่ายอาเรสได้รับความอัปยศอดสูท่ามกลางธารกำนัลยิ่งนัก จึงสาปอเล็กไทรออน ให้กลายเป็นไก่ ทำหน้าที่คอยขันในเวลาใกล้รุ่งของทุกคืน เป็นการลงโทษในการที่หลับยาม ด้วยเหตุนี้ไก่ตัวผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นในโลก จึงสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวแรกนั้นทั้งสิ้น และผลของการอภิรมย์ของคู่นี้ ทำให้ เทวีอโฟร์ไดท์ ให้กำเนิดธิดาออกมาองค์หนึ่งนามว่า อาร์โมเนีย ซึ่งต่อมาได้ เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/อาเรส-ares-มาร์ส-mars-2907.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น