11 ตุลาคม 2555

เฮรา เทพีแห่งหญิงสาว



เฮร่า (Hera) หรือ ภาษาโรมันว่า จูโน (Juno) เป็นราชินีของเทพธิดาทั้งหลาย เพราะเป็นชายาของซุส และ เฮร่า ยังเป็นธิดาคนโตของ เทพไทแทนโครนัส กับเทพีรีอา อีกด้วย ต่อมาในตอนหลังได้อภิเษกสมรสกับ ซุส ซึ่งเป็นน้องชายของนาง ทำให้นางกลายเป็นราชินีสูงสุดในสวรรค์ชั้นโอลิมปัส


โครนอส และ รีอา มีบุตรธิดาด้วยกันห้าองค์ซึ่งโครนอสกลืนลงท้องไปซะสี่องค์ เหลือซุสผู้เดียว ที่เหลือรอด กลับมาทวงสิทธิคืน(ด้วยกำลัง) จนได้ตำแหน่งมหาเทพไปครอง เฮร่าก็เป็นหนึ่งในสี่ที่ถูกโครนอสกลืนลงไป นางเป็นลูกคนที่สามของพี่น้องทั้งห้า เมื่อตอนที่โครนอส ดื่มน้ำยาที่เมทิสผสมขึ้นเพื่อให้คายลูกๆ ทั้งสี่ออกมานั้น ความงามของเฮร่า ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก โดยเฉพาะต่อซุสจอมเทพ เทวีเฮร่า ไม่ชอบนิสัยเจ้าชู้ของซุส ด้วยเหตุที่ซุสเป็นคนเจ้าชู้ ทำให้เฮร่ากลายเป็นคนขี้หึง และคอยลงโทษ หรือพยาบาท คนที่มาเป็นภรรยาน้อยของซุสอยู่เสมอ

ซุสคลั่งไคล้นาง ต้องการได้นางเป็นภรรยา แต่ทว่าเฮร่าไม่ต้องการเช่นนั้น เนื่องจากต้องติดอยู่ในท้องของบิดามาตลอดชีวิตวัยเยาว์ เฮร่าจึงต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่รีบร้อนที่จะคิดมีพันธะใดๆ จึงไปอยู่ที่เฮร่าเออุม ซึ่งเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ของตนในอาร์กอสโดยมี นางไนแอดส์ หรือ นางเงือก แห่งทะเลสาบอย่าง ยูรีโบอา โปรซีมนา และ อาคราเออา เป็นนางกำนัลคนสนิทคอยรับใช้ดูแล แต่มีบางตำนานกล่าวว่า ผู้ที่ดูแลเฮร่าก่อนที่นางจะสมรสกับซุส คือ เทเมนุส บุตรแห่งเพลาสกุส ซึ่งเขาก็คอยดูแลเฮร่า อย่างจงรักภักดีโดยตลอด และได้สร้างเจดีย์ขึ้นมาสามองค์เพื่อระลึกถึงวัยต่างๆของเฮร่า คือ ก่อนสมรสกับซุส นั้นคือวัยเยาว์ สมรสกับซุสแล้วคือวัยผู้ใหญ่ และเมื่อตอนทะเลาะกับซุส แล้วหนีจากโอลิมปุส มาพำนักกับราชาสติมฟาลุส แห่งอาร์คาเดีย และเทเมนุส คือวัยม่าย

เมื่อแรกที่ซุสขอแต่งงาน เฮร่าปฏิเสธ และ ปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี วันหนึ่งซุสคิดทำอุบายปลอมตัวเป็น นกกาเหว่า เปียกพายุฝน ไปเกาะที่หน้าต่าง เฮร่าสงสารก็เลยจับนกมาลูบขน พร้อมกับพูดว่า “ฉันรักเธอ” ทันใดนั้นซุสก็กลายร่างกลับคืน และบอกว่า เฮร่าต้องแต่งงานกับพระองค์ แต่ทว่าชีวิตการครองคู่ ของเทวีเฮร่ากับเทพซุส ไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก มักจะทะเละเบาะแว้งมีปากเสียงกันตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า ในเวลาที่เกิดฟ้าคะนองดุเดือดขึ้นเมื่อไร นั่นคือ สัญญาณว่า ซุสกับเฮร่า ต้องทะเลาะกัน เป็นแน่ เพราะ 2 เทพนี้เป็นสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์

แม้ว่าเทวีเฮร่ามีศักดิ์เป็นถึงราชินีแห่งสวรรค์ หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่ความประพฤติ และอุปนิสัย ของเทวี ไม่อ่อนหวานมีเมตตาสมกับเป็นเทพมารดาเลย โดยประวัติของเทวีนั้นมีทั้งโหดร้าย ไร้เหตุผล เจ้าคิดเจ้าแค้น และอาฆาตพยาบาท จนถึงที่สุด ผู้ใดก็ตามที่ถูกเทวีเฮร่าอาฆาตไว้มักมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ว่ากันว่า ชาวกรุงทรอยทั้งเมือง ล่มจมลงไปเพราะเพลิงอาฆาตแค้นของเทวีเฮร่านี้เอง สาเหตุเกิดจาก เจ้าชายปารีส แห่งทรอย ไม่เลือกให้เทวีชนะเลิศ ในการตัดสินความงาม ระหว่าง 3 เทวีแห่งสวรรค์ คือเทวีเฮร่า เทวีเอเธน่า และ เทวีอโฟรไดท์

รูปเขียนรูปสลัก ของชาวกรีกโบราณ มักทำรูปของเทวีเฮร่า เป็นเทวีวัยสาวที่สวยสง่า ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ว่ากันว่า มีคนหลงใหลความงามของเทวีหลายคน โดยเฉพาะ อิกซิออน (Ixion) ราชาแห่ง ลาปิธี (Lapithae) ต่อมาถูกซุส ลงโทษอย่างรุนแรง และบางที อาจเป็นเพราะทรนงตนว่ามีสิริโฉมงดงามก็ได้ ที่ทำให้ เทวีเฮร่า เป็นเดือดเป็นแค้นนัก ที่สวามีปันใจให้สตรีอื่น จึงต้องราวีอย่างถึงที่สุดเสมอ ความร้ายกาจของเทวี เคยถึงขนาด คิดปฏิวัติโค่นอำนาจ ของสวามีจนเกือบสำเร็จ

เรื่องมีอยู่ว่า เทวีโกรธแค้นความไม่ซื่อสัตย์ของสวามีขึ้นมาอย่างเต็มกลืน จึงร่วมมือกับ เทพโปเซดอน จ้าวสมุทร เชษฐาของซุสเอง เทพอพอลโล และ เทวีเอเธน่า ช่วยกันรุมจับองค์เทพซุส มัดพันธการไว้แน่นหนา จนเป็นเหตุให้ เทพซุสจวนเจียนจะสูญเสียอำนาจอยู่รำไร ก็พอดีชายาอีกองค์ของซุสนามว่า มีทิส (แปลว่าผู้มีปัญญา) ได้นำผู้ช่วยเหลือ มากู้สถานการณ์ได้ทันเวลา โดยไปพา อาอีกีออน (Aegaeon) ซึ่งเป็นอสูรร้อยแขน ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง มาช่วยเหลือเทพซุส อสูรตนนี้มีฤทธิ์อำนาจมากเสียจนเทพเทวา น้อยใหญ่ ต้องยอมศิโรราบไปตาม ๆ กัน เมื่อ อาอีกีออน มาแก้ไขให้ซุส และนั่งเฝ้าอยู่ข้างบัลลังก์ของซุส บรรดาผู้คิดกบฎปฎิวัติก็ขวัญเสีย ชวนกันหนีหน้าไปหมด แผนการณ์จึงล้มครืน ซุสจึงได้ลงโทษอย่างสาสมต่อความผิด โดยให้ อพอลโล และ โปเซดอน ไปใช้แรงงานช่วยกันสร้างกำแพงเมืองทรอย ส่วนชายาอย่างเฮร่าก็ถูกจับล่ามไว้บนท้องฟ้า

องค์เทพซุสเองก็เคย ร้ายกาจกับราชินีเทวีเฮร่าเหมือนกัน โดยลงโทษทัณฑ์แก่เทวีอย่างไม่ไว้หน้าอยู่บ่อย ๆ นอกจากทุบตีอย่างรุนแรงแล้ว ยังใส่โซ่ตรวนที่เท้าของเทวี กับ ผูกข้อมือมัดโยงอยู่บนท้องฟ้า จนเป็นเหตุให้เกิดตำนานเกี่ยวกับเทพ ฮีฟีสทัส ขึ้นมาว่า จากการวิวาทครั้งนี้ เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นโอรส เข้าขัดขวางมิให้พระบิดากระทำรุนแรงแก่พระมารดา จึงทำให้ซุสที่กำลังโกรธจัด จับตัวฮีฟีสทัสขว้างลงมาจากสวรรค์ กลายเป็น เทพพิการไปเลย

เทวีเฮร่า นอกจากขี้หึงแล้ว ยังช่างริษยามากอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อซุสทรงมีราชธิดานามว่า เอเธน่า ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร ซึ่งกระโดดออกมาจากเศียรของซุสเอง เทวีเฮร่าก็ริษยายิ่งนัก ตรัสว่าเมื่อสวามีทรงมี กุมารี ด้วยองค์เองได้ นางเองก็มีได้ เช่นกัน ทว่าบุตรที่เกิดจากตัวเทวีเองนั้น กลับมิได้สะสวย เรืองฤทธิ์เช่นเอเธน่า แต่เป็นอสูรร้าย น่าเกลียดน่ากลัวยิ่ง คืออสูร้าย ไทฟีอัส (Typheus) (แต่บางตำนานกล่าวว่าบุตรที่ได้จากเทวีเฮร่าก็คือ ฮีฟีทัสนั่นเอง) ซึ่งผู้ใดเห็นก็หวาดกลัว เลยทำให้เทพซุสโกรธเป็นอย่างมาก และการวิวาทบาดหมางก็เกิดขึ้นอีก

เทวีเฮร่า มีโอรสธิดากับเทพซุส ดังต่อไปนี้
1. เฮเบ (Hebe) หรือ แกนีมีดา เทพธิดาแห่งความเยาว์วัย รับหน้าที่ถือถ้วยเทพเจ้า แต่ภายหลังโดนปลดเนื่องจากไปก่อเรื่องวุ่นวายขึ้น
2. อิลลิธธียา (Ilithyia) หรือ ลูซิดา ในตำนานโรมัน ซึ่งเป็นเทพีแห่งการให้กำเนิดทารก
3. เอเรส (Ares) หรือ มาร์ส เทพเจ้าแห่งสงคราม
4. ดิสคอร์เดีย เทพธิดาแห่งการวิวาทบาดหมาง ฝาแฝดของอาเรส (ซึ่งเป็นเทพธิดา ผู้กลิ้งลูกแอปเปิ้ลทองคำ ที่สลักคำว่า “แด่ผู้ที่งดงามที่สุด” เข้าไปในกลุ่มเทพธิดา ที่มาใน งานแต่งงานในโอลิมปุส จนผลของการตัดสินของเจ้าชายปารีส นำไปสู่มหาสงครามเมืองทรอย ซึ่งทำให้ทรอยล่มสลาย)
5. อาร์จี เป็นนางเงือก
6. ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือวัลแคน เทพแห่งการช่าง เทพองค์นี้ ส่วนมากว่าเป็นโอรสที่เฮร่า ให้กำเนิดฝ่ายเดียว ไม่เกี่ยวกับซุส หรือชายใด

เหตุจากการที่ซุสให้กำเนิดเอธีนา และ ไดโอนีซุส จากร่างตนเอง และทั้งสองก็เป็นเทพที่ได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ส่วนบรรดาบุตรธิดาของนาง ไม่ค่อยจะเป็นที่ต้อนรับของชาวกรีกสักเท่าไหร่ โดยคนหนึ่ง เป็น เทพแห่งสงคราม (ชาวกรีกไม่นิยมชมชอบการทำสงคราม) อีกคนไปไหนคนก็อยากจะหลบ เพราะเป็นเทพธิดา ที่ชอบทำให้เกิดความบาดหมาง อีกคนแม้จะได้ตำแหน่งอันทรงเกียรติถือถ้วยเทพเจ้า แต่ก็ไม่วายก่อเรื่องจนถูกปลดลงจากตำแหน่ง

ด้วยความนิยมที่มีต่อ บรรดาลูกๆ ของนางกับซุสไม่ค่อยเป็นที่นิยม ทำให้เฮร่ารู้สึกริษยาเอธีนา และ ไดโอนีซุส จึงลองมี โอรสด้วยตนเอง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดก็ทำให้นางแทบร้องไม่ออก เพราะเฮเฟตุส ที่นางให้กำเนิด มีร่างกายพิกลพิการ ไม่สมกับเป็นเทพ จนซุสกล่าวหาว่าเฮร่ามีชู้ จนต้องพาไปสาบาน ด้วยน้ำในแม่น้ำสติกซ์ ซุสจึงยอมเชื่อ

และนี่ก็เป็นตำนานที่ขัดแย้งกันเอง เนื่องจากว่าตอนที่เอธีนากำเกิด ซุส ใช้ให้ เทพเฮเฟตุส เอาขวาม จามพระเศียร เพื่อดูว่าทำไมจึงปวดเศียรนักหนา หลังจากจามลงไปแล้ว เทพีเอธีนา ก็กระโดดออกมาจากรอยแยกของเศียรบิดา ส่วน เฮเฟตุสก็เกิดจากการที่ เทวีเฮร่า อิจฉาความนิยมที่มีต่อเทวีเอธีนาที่เกิดจากซุส จึงลองให้กำเนิดจากศรีษะของตนเองบ้าง

ด้วยว่าชีวิตการแต่งงาน ของนาง ไม่ค่อยมีความราบรื่น ต้องผจญกับปัญหามากมายที่สามีไปก่อไว้ แต่นางก็เป็นเทพีที่ซื่อสัตย์ไม่นอกใจสามี เฮร่าจึงเป็นเทพีที่อุปถัมภ์ การแต่งงานและเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ของชีวิตคู่ โดยที่คู่บ่าวสาวกรีกโบราณ ต้องขอพร และทำพิธีบูชาเฮร่าในวันที่พวกเขาแต่งงาน เพื่อให้ชีวิตคู่ราบรื่นถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร

ในส่วนของชู้ รักมากมายของซุสต้องจบชีวิตลงเพราะเฮร่า เช่น กรณีที่ดูโหด และ ทำร้ายจิตใจของซุส ก็ได้แก่การที่ทำให้เซเมเล่มารดาของไดโอนีซุสต้องตายด้วย คำสาบาน ที่นางขอจากซุส โดยที่เฮร่าจำแลงกายเป็นนางพี่เลี้ยงของเจ้าหญิงเซเมเล่ และให้นางทูลขอพร ที่ซุสที่เคยให้คำสัตย์ ต่อเจ้าหญิงน้อยว่า จะให้สิ่งใดก็ได้ที่นางขอหนึ่งอย่าง เฮร่าในร่างแปลง ยุให้เซเมเล่ ให้ซุสดื่มน้ำจากแม่น้ำสติกซ์ (แม่น้ำแห่งสัจจะ) ซึ่งผู้ดื่มเข้าไปแล้วจะพูดแต่ความจริง หากสัญญาก็ต้องทำตามคำที่ลั่นไว้ เซเมเล่ก็ขอพร ให้ซุสปรากฎกาย ในร่างเทพเจ้า และสวมชุดเกราะเต็มยศ ตามที่นางพี่เลี้ยงตัวปลอมบอก ซุสจำต้องทำให้ แม้จะรู้เต็มอกว่า หญิงคนรักต้องตาย ซึ่งก็สมปรารถนาเฮร่า ร่างของเซเมเล่ มอดไหม้ เป็นมหาจุล ในพริบตา ด้วยลำแสงร้อนแรง จากรัศมีของมหาเทพ แต่ซุสก็ช่วยชีวิตทารกในครรภ์ได้ทัน โดยคว้ามาจากท้อง เซเมเล่ ก่อนนางจะตาย และเอามาฝังไว้ที่ต้นขาของตนเอง จนกระทั่งถึงกำหนดคลอด

อัลมีเน่ มารดาของวีรบุรุษจอมพลัง เฮร่าเคลส หรือ เฮอร์คิวลิส ก็เกือบตาย ขณะที่หลับใหลด้วยความอ่อนเพลียจากการคลอดบุตร เพราะเฮร่าส่งอสรพิษยักษ์ไปให้ฆ่าทั้งแม่และลูก แต่หนูน้อยเฮอร์คิวลิส ตื่นขึ้นมาก่อน จึงจับคองูยักษ์แกว่งไปมา และบีบคองูร้ายตายด้วยความไร้เดียงสา และการกระทำนี้เอง ที่ทำให้เฮร่ารู้สึกว่าเจ้าเด็กทารกคนนี้ต่อกรกับตนได้ตั้งแต่เกิด เฮร่าจึงตาม จองล้างจองผลาญ มาตลอด จนเฮอร์คิวลิสมีครอบครัว เฮร่าก็ทำให้เฮอร์คิวลิสคลั่งจนฆ่าภรรยา และลูกชายทั้งสองตายด้วยมือตัวเอง

ฝาแฝดผู้เลื่องชื่ออย่างอพอลโล และอาร์เตมิส ก็เกือบที่จะไม่ได้เกิด เพราะ เฮร่าส่งไพธอน ไปไล่ฆ่าเลโตมารดาของทั้งสอง ในขณะที่ตั้งครรภ์ใกล้คลอดแบบกะไม่ให้เด็กได้เกิด ถ้าเลโต ไม่เสี่ยงหนีลงทะเล และโปเซดอน ไม่บันดาลเกาะเดลอสขึ้นมา ก็คงไม่ได้มีโอกาสรู้จักเทพแฝดคู่นี้ เมื่อแฝดผู้พี่เติบใหญ่ ก็สังหารเจ้าไพธอน และ ยึดวิหารแห่งเดลฟีที่เคยเป็นเทวาลัยของเฮร่ามาเป็นของตน

คาลิสโต ชู้รักคนหนึ่งของซุสก็ถูกซุสสาปให้เป็นกลุ่มดาวหมีใหญ่บนท้องฟ้า เพื่อปกป้องนางจากเฮร่า (บ้างก็ว่าจากคำสาปของอาร์เตมิส เพราะนางเป็นหญิงผู้รับใช้เทพธิดาแห่งจันทราผู้ไม่นิยมการครองเรือน แต่หญิงรับใช้กลับท้องซะเอง)

แม้แต่นักบวชหญิงแห่งอาร์กอส ผู้รับใช้เฮร่าอย่างไอโอ ก็ต้องเกือบตายด้วยฤทธิ์แรงหึง เมื่อซุสแอบมีสัมพันธ์กับนาง เฮร่า จะเอาเรื่องจนซุส ต้องแปลงร่างไอโอเป็นวัว เฮร่าก็แสร้งทูลขอจากซุส และ ให้อาร์เกสอสูรไซคอล์ป ผู้ที่ไม่หลับ เฝ้าวัวแปลงเอาไว้ เมื่อนางหนีไปก็ต้องระหกระเหินไปถึงอียิปต์ ซึ่งได้สมรสกับราชาเทเลโกนุสของอียิปต์ และ เป็นบรรพชน ของดานาอุส (บิดาของ ดานาอีทั้งห้าสิบ)

แม้จากตัวอย่าง เหยื่อความโหดของเฮร่า จะมีมากมาย และวิธีจัดการดูน่ากลัว แต่เทวีแห่งสรวงสวรรค์ จะมุ่งร้ายก็เฉพาะพวกที่เป็นศัตรู ส่วนพวกที่บูชานางก็จะได้รับผลตอบแทน ที่แสนดีกลับคืน เพราะนางจะคอยดูแลทุกข์สุขโดยตลอด อย่างเช่นที่นางได้ให้ความช่วยเหลือต่อเจ้าชายเจสัน ตั้งแต่ต้นในการตามหาขนแกะทองคำ หากไม่มีนาง เจสันและเรืออาร์โกของเขาก็คงจะประสบปัญหาอับปางลงอย่างแน่นอน

เฮร่า โปรดปรานเมืองอาร์กอส และชาวเมืองที่นั่นมากที่สุดในบรรดาพวกกรีกด้วยกัน และยังเป็นเทพีประจำนครนั้น เนื่องจาก บิดามารดาของเจสันรวมทั้งตัวเขา และเมืองโครินธ์ บูชานาง เฮร่าจึงช่วยเหลือ โดยแปลงร่างเป็นหญิงชรามาช่วยให้เหตุการณ์เป็นไปตามทำนายที่ว่า ผู้ที่มาทวงบัลลังก์คืนจะสวมรองเท้าข้างเดียว และยังคอยช่วยให้เขาฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย รวมทั้งยังสั่งให้อีรอส แผลงลูกศรทองคำใส่นางเมเดอา แม่มดสาวคนงาม ผู้เป็นธิดาของราชาเออีเตส แห่งโคลคิสผู้ครอบคองขนแกะทองคำ ทำให้นางหลงรัก เจสัน และช่วยเขา ให้ทำภารกิจที่เออีเตส มอบหมายเสร็จสมบูรณ์โดยไม่เป็นอันตราย และเมเดอา ยังช่วยขโมยขนแกะ เมื่อเออีเตส บิดพริ้ว รวมถึงช่วยให้เจสันหนีการตามล่าของเออีเตสผู้เป็นบิดาของนางอีกด้วย

ผลไม้ที่เฮร่าโปรดก็คือแอปเปิ้ลและทับทิม สวนแอปเปิ้ลทองคำ ที่พวกเฮสเพอริเดสลูกสาว ของของไตตันแอตลาส คอยเฝ้าดูแล ก็เป็นสมบัติของเฮร่า

ส่วนชนชาติที่เฮร่าชัง ก็คงจะหนีไม่พ้นพวกโทรจัน ด้วยเหตุที่ว่าเจ้าชายปารีสไม่เลือกนางเป็นผู้ที่สวยที่สุด ดังนั้นในสงครามระหว่างทรอยกับกรีก เพื่อแย่งชิงราชินีเฮเลน เฮร่าก็อยู่ฝ่ายกรีกตามแรงแค้น

นอกจากพวกโทรจันที่เทพีเฮร่าไม่โปรดแล้วนั้น ยังมีนางซิดี ผู้ซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของโอไรออน นายพราน มือฉมัง (ภายหลังถูกอาร์เตมิสสาป และ จบชีวิต อย่างน่าเศร้า) คุยโอ่ว่าตัวเองสวยเลอเลิศกว่าใครๆ ในโลกนี้ แม้แต่เฮร่าจอมเทวี ก็ไม่อาจจะมาทาบ รัศมีของตนเองได้ โชคร้าย ของนางซิดี ที่เฮร่าได้ยินเต็มสองรูหู เฮร่าจึงทำให้ซิดีไม่มีโอกาสโม้ให้รำคาญใจและเจ็บใจได้อีกต่อไป นางจึงจัดการส่งซิดี ไปไกลๆจากการได้เห็นได้ยินโดยส่งตรงไปยังยมโลก

เฮร่า เป็นตัวแทนของความงามสง่าเย่อหยิ่งเยี่ยงราชินี ในขณะที่อะโฟรไดท์ จะมีความสวยงามในทางเย้ายวนแบบหญิงสาว เฮร่าก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของภรรยา ที่ซื่อสัตย์ไม่นอกใจสามี และ สตรีขี้หึงอีกด้วย

แม้ว่าชีวิตสมรสของ เทวีเฮร่า จะไม่ราบรื่นนัก แต่ในฐานะที่เป็นราชินีหรือเป็นมารดาแห่งสวรรค์ เฮร่าเป็นเทพที่คุ้มครองการแต่งงาน มีหลายครั้งที่เธอคอยดลใจให้วีรบุรุษได้แสดงความกล้าหาญ จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือในเขตโอลิมปัส เทวาลัยที่เป็นที่บูชาขนาดใหญ่ที่สุดของเทวีเฮร่า อยู่ที่เมืองอาร์กอสเรียกว่า เดอะ เฮร่าอีอุม (Heraeum)

ที่มา http://variety.phuketindex.com/faith/เฮร่า-hera-จูโน-juno-393.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น